การจัดสวัสดิการในสถานประกอบการ

      สวัสดิการแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของลูกจ้างรวมถึงครอบครัวดีขึ้นความเอื้ออาทรของนายจ้างโดยการจัดสวัสดิการแรงงานให้แก่ลูกจ้าง ย่อมทำให้ลูกจ้างมีความรัก ความผูกพันต่อนายจ้าง ทำให้ลูกจ้างเกิดขวัญและกำลังใจในการทำงานซึ่งทำให้ผลผลิตของลูกจ้างมีปริมาณสูงขึ้น และคุณภาพสูงขึ้นในขณะเดียวกันการจัดสวัสดิการแรงงานให้แก่ลูกจ้างยังช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างช่วยลดปัญหาและข้อขัดแย้งในสถานประกอบกิจการทำให้การประกอบกิจการของนายจ้างดำเนินไปอย่างราบรื่น

           กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ปฏิบัติภารกิจด้านสวัสดิการแรงงาน โดยการส่งเสริมให้มีการจัดสวัสดิการขึ้นในสถานประกอบกิจการ โดยเห็นว่าการที่ลูกจ้างได้รับสวัสดิการที่ดี นอกจากทำให้ลูกจ้าง เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีแล้ว ยังส่งผลให้ลูกจ้างลดการขาดงาน ลางานและเปลี่ยนงานบ่อย ในที่สุดจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานและผลิตภาพในการทำงาน ภายใต้กรอบภารกิจดังกล่าว สวัสดิการแรงงานได้ถูกจัดแบ่งออกเป็น2 ประเภท คือ

1. สวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย

2. สวัสดิการแรงงานนอกเหนือกฎหมาย

ข้อ 1 ในสถานที่ทำงานของลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดให้มี
(1) น้ำสะอาดสำหรับดื่มไม่น้อยกว่าหนึ่งที่ สำหรับลูกจ้างไม่เกินสี่สิบคน และเพิ่มขึ้นในอัตราส่วน หนึ่งที่สำหรับลูกจ้างทุกๆ สี่สิบคน เศษของสี่สิบคนถ้าเกินยี่สิบคนให้ถือเป็นสี่สิบคน

(2)ห้องน้ำและห้องส้วมตามแบบและจำนวนที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และมีการดูแลรักษาความสะอาดให้อยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะเป็นประจำทุกวัน ให้นายจ้างจัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมแยกสำหรับลูกจ้างชายและลูกจ้างหญิง และในกรณีที่มีลูกจ้าง ที่เป็นคนพิการ
ให้นายจ้างจัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมสำหรับคนพิการแยกไว้โดยเฉพาะ

ข้อ 2 ในสถานที่ทำงานของลูกจ้าง
ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการรักษาพยาบาล
(1) สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ ในการปฐมพยาบาลในจำนวนที่เพียงพอ

(2) สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างในขณะเดียวกันตั้งแต่สองร้อยคนขึ้นไป ต้องจัดให้มี

(ก) เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลตาม (1)
(ข) ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อยหนึ่งเตียง เวชภัณฑ์และยานอกจาก ที่ระบุไว้ใน (1) ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
(ค) พยาบาลตั้งแต่ระดับพยาบาลเทคนิคขึ้นไปไว้ประจำอย่างน้อยหนึ่งคนตลอดเวลาทำงาน
(ง) แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละสองครั้ง และเมื่อรวมเวลาแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหกชั่วโมงในเวลาทำงาน

(3) สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่หนึ่งพันคนขึ้นไป ต้องจัดให้มี
(ก) เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลตาม (1)
(ข) ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อยสองเตียงเวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
(ค) พยาบาลตั้งแต่ระดับพยาบาลเทคนิคขึ้นไปไว้ประจำอย่างน้อยสองคนตลอดเวลาทำงาน
(ง) แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า สัปดาห์ละสามครั้ง และเมื่อรวมเวลาแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละสิบสองชั่วโมงในเวลาทำงาน
(จ) ยานพาหนะซึ่งพร้อมที่จะนำลูกจ้างส่งสถานพยาบาลเพื่อให้การรักษาพยาบาล ได้โดยพลัน

ข้อ 3 นายจ้างอาจทำความตกลง เพื่อส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาล ที่เปิดบริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงและเป็นสถานพยาบาลที่นายจ้างอาจนำลูกจ้างส่ง เข้ารับการรักษาพยาบาล ได้โดยความสะดวกและรวดเร็ว แทนการจัดให้มีแพทย์ตามข้อ 2 (2) หรือ ข้อ (3) ได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

การให้นายจ้างจัดสวัสดิการตามที่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดถือเป็นภารกิจของกรมต้องมีการตรวจติดตามโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่นอกเหนือจากการดำเนินการดังกล่าว การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย ยังเป็นการที่ เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปในสถานประกอบกิจการเพื่อแนะนำรูปแบบของสวัสดิการต่างๆที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ แต่หากสถานประกอบกิจการใดมีความพร้อมเพียงพอก็สามารถจัดให้เป็นไปตามความต้องการของลูกจ้างได้

สวัสดิการแรงงานนอกเหนือกฎหมาย

สวัสดิการนอกเหนือกฎหมายที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนำเสนอเป็นทางเลือกสำหรับสถานประกอบกิจการจัดเพิ่มเติม แบ่งออกได้เป็นหมวดใหญ่ๆ ดังนี้



1. สวัสดิการที่มุ่งพัฒนาลูกจ้าง เช่น


– การส่งเสริมการศึกษาทั้งในและนอกเวลาทำงาน


– การจัดตั้งโรงเรียนในโรงงาน


– จัดระบบฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการทำงานทั้งในและนอกสถานที่ทำงาน


– การจัดให้มีห้องสมุด หรือมุมอ่านหนังสือ ฯลฯ เป็นต้น



2. สวัสดิการที่ช่วยเหลือในเรื่องค่าครองชีพ


– การจัดตั้งร้านค้าสวัสดิการหรือสหกรณ์ร้านค้า


– การให้เงินช่วยเหลือต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานอุปสมบท งานศพ


– การจัดชุดทำงาน


– การจัดหอพัก


– การจัดให้มีรถรับ-ส่ง


– เงินโบนัส ค่าครองชีพ เบี้ยขยัน ค่าเข้ากะ



3. สวัสดิการที่ช่วยเหลือการออมของลูกจ้าง เช่น


– สหกรณ์ออมทรัพย์


– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ



4. สวัสดิการที่พัฒนาสถาบันครอบครัวของลูกจ้าง เช่น


– การจัดสถานเลี้ยงดูบุตรของลูกจ้าง


– การช่วยค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว


– การช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตรของลูกจ้าง


– การประกันชีวิตให้กับลูกจ้าง



5. สวัสดิการที่ส่งเสริมความมั่นคงในอนาคต เช่น


– เงินบำเหน็จ


– เงินรางวัลทำงานนาน


– ให้ลูกจ้างซื้อหุ้นของบริษัท


– กองทุนฌาปนกิจ


– เงินกู้เพื่อสวัสดิการที่พักอาศัย



6. สวัสดิการนันทนาการ เช่น


– การจัดทัศนศึกษา


– การแข่งขันกีฬา


– การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์พนักงาน



7. สวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย


– การให้ความรู้เรื่องสุขภาพอนามัย


– การตรวจสุขภาพประจำปี


– การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพแบบครบวงจร


บทความและหลักสูตรที่น่าสนใจ