หลักในการอบรมความปลอดภัยสำหรับพนักงานใหม่ มีดังนี้
รู้หรือไม่? คำว่า ‘ความปลอดภัย’ หมายถึง การที่ร่างกายปราศจากอุบัติภัยหรือทรัพย์สินปราศจากความเสียหาย แล้วทั้งมนุษย์หรือสัตว์ต่างต้องการความปลอดภัยทั้งสิ้น ดังนั้น ความปลอดภัยจะมีประโยชน์มากหรือน้อยเพียงใดล้วนขึ้นอยู่กับการปฏิบัติหรือการกระทำของบุคคลนั้นๆ
ทีนี้ รู้อีกหรือไม่? อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ แน่นอนล่ะ สาเหตุที่เกิดมันย่อมมาจากการกระทำหรือพฤติกรรมที่ไม่ใส่ใจในความปลอดภัย เช่น การกระทำที่ไม่ถูกวิธีหรือขั้นตอน, ความประมาท, พลั้งเผลอ, เหม่อลอย, การมีนิสัยส่วนตัวที่ชอบความเสี่ยง, การไม่ปฏิบัติตามกฏระเบียบความปลอดภัยในการทำงาน, การทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล, การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม, และการทำงานโดยสภาพร่างกายและจิตใจไม่ปกติ อันได้แก่ เมาค้าง หรือ ป่วย เป็นต้น อีกประการที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ นั่นก็คือ สภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้นว่า การวางผังของสถานที่ไม่ถูกต้อง, การวางสิ่งของไม่เป็นระเบียบ, สถานที่ทำงานไม่เหมาะสม, สภาพการทำงานไม่ปลอดภัย เช่น เสียงดัง อากาศร้อน มีฝุ่นละอองมาก และอุปกรณ์เครื่องมือหรือเครื่องจักรเกิดความชำรุดเสียหาย
ที่กล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่พนักงานใหม่จำเป็นจะต้องรู้ เพราะมันข้องเกี่ยวกับความปลอดภัยขณะที่ทำงานทั้งนั้น แล้วเมื่อพนักงานใหม่เข้ารับการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการทำงานก็จะได้รับข้อมูลความรู้เบื้องต้นที่สำคัญ เพื่อจะได้นำไปใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอันเป็นการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุนั้นๆ ซึ่งจะใช้หลักการ 5 ส. ได้แก่
(1) สะสาง หมายถึง การแยกสิ่งของที่สำคัญและไม่สำคัญออกจากกันอย่างชัดเจน
(2) สะดวก หมายถึง การจัดสิ่งของและเครื่องมือให้เป็นระเบียบ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
(3) สะอาด หมายถึง รักษาความสะอาดของเครื่องมือเครื่องใช้และซ่อมให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา
(4) สุขลักษณะ หมายถึง การปฏิบัติ 3 ข้อข้างต้นอย่างต่อเนื่อง
(5) สร้างนิสัย หมายถึง การฝึกนิสัยให้นำทั้ง 4 ข้อไปปฏิบัติจนติดเป็นนิสัยในระยะยาว
นอกจากนี้ก็ยังมีกฏสำคัญที่จะได้รับรู้จากการอบรมด้วย นั่นก็คือ ‘กฏ 5 รู้’ มีดังนี้
(1) รู้งานที่ปฏิบัติว่ามีอันตราอย่างไรและมีขั้นตอนการทำงานอย่างไร หมายถึง ทำความเข้าใจในเนื้องานหรือกระบวนการดำเนินงานให้ชัดเจน รวมถึงทบทวนถึงอันตรายที่สามารถจเกิดขึ้นได้และคิดถึงวิธีการป้องกันปัญหาล่วงหน้า
(2) รู้การเลือกใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หมายถึง ถ้าจะต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในการทำงานก็ควรจะศึกษาว่าอุปกรณ์นั้นๆ เหมาะสมกับการใช้งานแบบใดและไม่ควรจะนำไปใช้ในเรื่องใด
(3) รู้วิธีการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หมายถึง เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่ต้องมีทักษะในการใช้งาน หากใช้ไม่ถูกวิธีก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายกับตนเองและคนรอบข้างได้ ฉะนั้นจึงควรจะศึกษาวิธีใช้ให้เข้าใจ เพื่อลดสาเหตุการเกิดอันตรายให้ได้มากที่สุด
(4) รู้ข้อจำกัดการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หมายถึง นอกจากจะรู้จักการเลือกรวมถึงวิธีการใช้เครื่องมือแล้ว ยังต้องรู้ขีดจำกัดหรือคุณสมบัติของอุปกรณ์วาทนทานแค่ไหน
(5) รู้วิธีการบำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หมายถึง เมื่อรู้เรื่องเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่จะต้องใช้งานแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การบำรุงรักษา เพื่อจะให้เครื่องมือเครื่องใช้คงสภาพดีสามารถใช้งานได้ปลอดภัย รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุดด้วย
อีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้การป้องกันอุบัติเหตุเกิดความสำเร็จ สิ่งนั้นคือ บันได 5 ขั้นสู่การป้องกันอุบัติเหตุที่สมบูรณ์ ได้แก่
(1) จัดตั้งองค์กรหรือบุคคลผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ต่อการติดตามแก้ไขอันตราย และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะทำงาน
(2) ค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุด้วยวิธีการต่างๆ
(3) วิเคราะห์อุบัติเหตุ เพื่อแยกประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจน
(4) คัดเลือกมาตรการป้องกันที่เห็นว่าเหมาะสม
(5) นำมาตรการป้องกันนั้นๆ ไปประยุกต์ใช้งานและคอยติดตามผลการปฏิบัติ
แต่ละ 5 ข้อของหลักการทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการประเมินผลออกมาแล้วว่า หากสามารถปฏิบัติได้จักเกิดผลดีด้านการป้องกันความปลอดภัยในที่ทำงาน โดยเฉพาะผลดีต่อพนักงานใหม่ผู้ซึ่งยังมีประสบการณ์ในที่ทำงานไม่มากนักจึงสมควรจะจดจำและหมั่นปฏิบัติ เพื่อให้เกิดเป็นนิสัย
เชื่อสิว่า ความปลอดภัยไม่ยากเกินกว่าความตั้งใจและการลงมือทำหรอก ขอเพียงแค่อย่าละทิ้งสิ่งที่ได้อบรมเรียนรู้เท่านั้น วันหนึ่งเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ทั้งเรื่องงานและเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน มันจะกลายเป็นเรื่องปลอกกล้วยเข้าปากเลย