เรียนต่อ จป วิชาชีพต้องเรียนสาขาไหน
บทนำ: จป ย่อมาจาก เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่ง จป นั้นมีอยู่หลายระดับด้วยกัน ดังนี้
- จป.หัวหน้างาน ภาษาอังกฤษ Safety Officer Supervisory Level
- จป.เทคนิค ภาษาอังกฤษ Safety Officer Technical level
- จป.เทคนิคขั้นสูง ภาษาอังกฤษ Safety Officer Advanced Technical Level
- จป.วิชาชีพ ภาษาอังกฤษ Safety Officer Professional Level
- จป.บริหาร ภาษาอังกฤษ Safety Officer Management Level
ซึ่ง จป แต่ละระดับ ก็มีคุณสมบัติ และหน้าที่แตกต่างกันออกไป หากอยากศึกษาอย่างระเอียดสามารถดูได้จาก “กฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานฯ พ.ศ. 2565”
ที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือ “จป.วิชาชีพ (Safety Officer Professional Level)”
อยากเป็น จป วิชาชีพ เริ่มต้นอย่างไร ?
หลายคนอยากเปลี่ยนสายงานมาทำงานสาย จป วิชาชีพไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรซึ่ง จป ทั้ง 5 ระดับนั้นมีเพียง จป วิชาชีพ ที่จะต้องเรียนจบสายตรงจากมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตร จป วิชาชีพ ปัจจุบัน จปว ไม่สามารถอบรมแล้วเป็น จป วิชาชีพได้เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งย้อนกลับไปหลายปีก่อนนั้นสามารถอบรมได้แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้วใครที่จะเป็น จป วิชาชีพ จะต้องเรียนจบตรงจากมหาวิทยาลัยเท่านั้น
ตามกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าจป วิชาชีพต้องมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า (ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งเปิดสอนหลักสูตรนี้ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้จาก ข้อมูลสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า หากตัดสินใจแล้วว่า จะเรียนสายนี้แบบจบตรง 4 ปี ต้องจบสายวิทย์ – คณิต ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (ตอนนี้ยกเลิกแล้ว.. รอกฎหมายประกาศ)
- เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดีบวิชาชีพ ตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2540
ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับงาน จป.วิชาชีพ ?
จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาการเป็นจป วิชาชีพ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากเสียทีเดียว งาน จป ต้องเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ บางคนอาจเข้าใจว่า จป จะทำงานก็ต่อเมื่อมีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ต้องใช้คำว่า จป ต้องทำงานมากขึ้น เมื่อมีอุบัติเหตุจากการทำงาน เพราะต้องสอบสวนอุบัติเหตุร่วมกับบุคคลอื่นๆ และต้องหาวิธีป้องกัน เพื่อไม่ให้อุบัติเหตุลักษณะเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก
บางคนบอกว่า จป มีหน้าที่เดินไปเดินมา เดินจับผิดพนักงาน แต่การเดินไปเดินมาของ จป คือ การ “ Walk Through Survey แปลว่า การเดินสำรวจเพื่อตรวจดูความปลอดภัย หรืออาจจะเรียกว่า Safety Patrol แปลว่า การสำรวจความปลอดภัย” ซึ่งการเดินสำรวจหรือตรวจความปลอดภัยนั้น จป จะทำทุกวัน เพื่อตรวจเช็คดูว่ามีอะไรผิดปกติ หรือมีจุดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับพนักงานหรือไม่ หากพบว่ามีจุดที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ต้องรีบดำเนินการแก้ไข เพื่อป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุนั่นเอง
จากการทำงานของจป ที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นจะเห็นว่าต้องทำงานหลายด้านเพราะฉนั้นคนที่ไม่เหมาะจะเป็นจปคือ
- อยากเป็น จป วิชาชีพแต่ไม่ชอบลงหน้างาน ไม่ชอบความร้อน ชอบอยู่ใน office
หากเราเป็น จป. วิชาชีพที่ต้องทำงานคนเดียวทั้งหมด คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องลงหน้างาน เพราะหากเรานั่งอยู่แต่บนออฟฟิศ เราก็จะไม่สามารถเห็นปัญหา หรือจุดที่อาจเกิดอันตรายได้ จป.วิชาชีพต้องรู้กระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อทราบถึงอันตรายและนำมาวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย (JSA) แต่ละกระบวนการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ
- ไม่ชอบความวุ่นวาย ไม่ชอบการแก้ไขที่หลากหลาย ขอปัญหาแบบเดิมๆชิล ๆ
การเป็นจป.วิชาชีพมักมีอะไรให้ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา หากเราชอบทำงานที่ชัดเจน แน่นอน ทำเหมือนเดิมทุกวัน อาชีพจป.วิชาชีพ ไม่น่าจะเหมาะกับคุณแน่นอน เพราะ จป.วิชาชีพต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วย ไม่ใช่แค่งานด้านความปลอดภัยเท่านั้น ที่ จป. ต้องรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง เช่น หากมีสัตว์เข้าโรงงาน ไม่ว่าจะเป็น ลิง แมว หรืองู ก็เป็นหน้าที่ที่ จป. อย่างเรา ต้องหาวิธีไล่ และป้องกัน ไม่ให้สัตว์ทำร้ายพนักงานด้วย
ในการประชุมคปอ. ก็มักจะมีปัญหามาให้จป. ได้แก้และหามาตรการด้วยเช่นกัน
- ไม่ชอบการประสานงานก็แบบว่าฉันโลกส่วนตัวสูงรักสันโดด
การฝึกอบรม หรือฝึกซ้อม แผนฉุกเฉินต่างๆ หรือแม้แต่การประชุม คปอ. ประจำเดือน จป.วิชาชีพไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องคอยประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆอยู่ตลอดเวลา เพื่อขอความร่วมมือและขอความช่วยเหลือ หาก จป. วิชาชีพไม่ชอบการประสานงานแล้ว ชีวิตการเป็น จป.วิชาชีพ คงจะทำงานได้ไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน
- ไม่ชอบกฎระเบียบ
เป็นที่รู้กันดีในวงการ จป. ว่า หนึ่งบุคคลสำคัญที่ออกกฎระเบียบมาเต็ม โรงงาน ก็คือท่าน จป นี่เองที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังระเบียบความปลอดภัยทั้งหมด ดังนั้นการเป็น จป. ยิ่งต้องทำให้เป็นตัวอย่างแบบเคร่งครัดสุดๆกันเลยทีเดียว ข้อนี้สำคัญมาก สำหรับการเป็น จป. ถ้า จป. เองยังไม่ทำตามกฎก็จะไม่สามารถไปบอกกับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎได้ ผ่านมา 4 ข้อแล้ว เริ่มท้อกันหรือยังอย่าพึ่งถอดใจนะ 🙂
- ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอก คือเป็นคนขี้อายน่ะ
งานหลักอีกอย่างของ จป. วิชาชีพ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ การอบรมให้ความรู้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานใหม่ ผู้รับเหมา ลูกค้า หรืออบรมในเรื่องความปลอดภัยอื่นๆ ที่ จป.วิชาชีพสามารถอบรมเองได้ และคุณสมบัติที่สำคัญของ จป. วิชาชีพอีกข้อ คือ ต้องกล้าพูด กล้าบอก เพราะการเป็น จป.นั้น เมื่อพบสิ่งผิดปกติ หรือพบพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ต้องบอกให้เค้ารู้ และทำตามกฎนั้นๆด้วย ที่สำคัฐต้องมีความมั่นใจในตัวเองค่อนข้างสูงจะดีเยี่ยมเลย
- ไม่ชอบกฎหมาย ไม่ชอบอ่านกฎหมาย มันเข้าใจย้ากยาก
หัวใจหลักของงาน จป. อีกข้อคือ “ตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” จป. วิชาชีพจำเป็นต้องศึกษาข้อกำหนดของกฎหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อนที่จะนำเสนอแนะแก่นายจ้าง เพราะฉนั้น ถ้าเราไม่ชอบอ่าน และทำความเข้าใจกฎหมายแล้ว งาน จป. วิชาชีพก็ไม่น่าเหมาะกับเราเช่นกัน
7. จป วิชาชีพ เงินเดือนเท่าไร
หลายคนสนใจย้ายสายงานหรือเปลี่ยนสายงานมาเป็นจปเหตุผลก็เพราะ จป วิชาชีพ ได้เงินเดือนดีโดยส่วนใหญ่ค่าเฉลี่ยของเงินเดือน จป วิชาชีพ
- จป วิชาชีพจบใหม่ เริ่มต้นเงินเดือน 18,000-22,000 บาท
- จป วิชาชีพประสบการณ์ 2-3 ปี เงินเดือน 23,000 – 27,000
- จป วิชาชีพประสบการณ์ 3-5 ปี เงินเดือน 28,000-32,000 บาท
- จป วิชาชีพประสบการณ์ 5 ปีขึ้นไปเงินเดือน มากกว่า 32,000 บาท
นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ จป วิชาชีพ ส่วนใหญ่ที่จบใหม่ หรือทำงานได้ไม่เกิน 2 ปี มักเปลี่ยนงานกันเป็นว่าเล่นก็เพราะสายงาน จป วิชาชีพ เมื่อมีประสบการณ์ระดับนึงแล้วก็ต้อง up เงินเดือนกันเป็นเรื่องธรรมดา
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึง จป วิชาชีพ นั้นก็มีหลายฟิวล์ เช่น
- จป สายงานก่อสร้าง
- จป สายงานโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์
- จป สายงานปิโตรเคมี
- จป สายงาน บลาๆๆๆ
สายงานไหนที่ใช้ภาษาในการสื่อสารหรือเก่งภาษาอังกฤษก็ไม่ต้องพูดถึงส่วนใหญ่ก็ได้งานที่บริษัทชั้นนำหน่อย เช่น บริษัทข้ามชาติต่างประเทศ บริษัทมหาชนจำกัด หรือพวกบริษัท ปตท(GC) บริษัทในเครือ SCG และ บริษัทชั้นนำ ฯลฯ เป็นต้น
สรุป:
รู้จักงานของ จป.วิชาชีพ กันบ้างแล้วลองตัดสินใจดู ว่าเราเหมาะกับงานลักษณะนี้หรือไม่ หากมองแล้วว่า เราทำได้ เราชอบแบบนี้ ก็เหมาะที่จะเป็น จป แต่หากอ่านดูแล้ว รู้สึกว่าไม่ใช่ทาง ก็ลองมองหาอาชีพอื่นที่เหมาะจะดีกว่าซึ่งมีให้เลือกอีกมากมาย
* สงวนลิขสิทธิ์ทุกเนื้อหา และ ภาพประกอบของ SAFESIRI สามารถนำไปเผยแพร่ได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เชิงพาณิชย์
** กรณีมีการคัดลอกบทความของเราไปส่วนใดส่วนหนึ่ง โปรดติดลิงค์กลับมาที่หน้านี้เพื่อให้เครดิตกับเรา