อุบัติการณ์ Incident คืออะไร ? ทำไมคนในวงการ จป. ต้องรู้ ?
ในการทำงานภาคอุตสาหกรรม หลาย ๆ ครั้งที่มักจะเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าและไม่ได้คิดว่าจะเกิด และหลาย ๆ ครั้งเช่นกันที่ส่งผระทบต่อการทำงาน หรือผู้ปฏิบัติงานได้รับความบาดเจ็บจากการทำงาน ซึ่งในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมนั้นจะต้องมีคำศัพท์ที่ใช้ในวงการนี้โดยเฉพาะ เพื่อระบุสาเหตุ ประเภทของอุบัติเหตุ และผลกระทบของอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ Incident ว่ามีกี่รูปแบบ มีอะไรบ้าง และมีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง
อุบัติการณ์ Incident คืออะไร ?
อุบัติการณ์ Incident คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าและไม่ได้คิดว่าจะเกิด โดย Incident ใช้สำหรับการระบุเหตุการณ์ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรง หรือไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรเลย ต่อทั้งตัวงานและตัวผู้ปฏิบัติงานเอง
แม้ว่า Incident จะใช้ในการระบุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ส่งผลเสีย หรือ เกือบเกิด แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข หรือปล่อยให้เกิดขึ้นในระยะยาว ก็มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายขึ้น และเราจะเรียกเหตุการณ์นั้นว่า อุบัติเหตุ Accident
หลาย ๆ คนมักจะเข้าใจผิดว่า Incident คือ อุบัติเหตุ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะอุบัติเหตุเราเรียกว่า Accident และอุบัติเหตุจะต้องสร้างผลกระทบในด้านลบต่อตัวงาน หรือผู้ปฏิบัติงานทันทีที่เกิดขึ้น ซึ่ง Accident ก็เป็นผลกระทบจากการเกิด Incident แล้วไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง หรือไม่ได้รับการปรับปรุงนั่นเอง
ตัวอย่าง Incident
- ผู้ปฏิบัติงานลืมล็อคประตูโรงงาน จนทำให้มีความเสี่ยงที่ในอนาคตจะถูกขโมย
- ผู้ปฏิบัติงานลืมปิดหลอดไฟหลังจากไม่ใช้แล้ว ซึ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากหลอดไฟบางชนิดไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง
- ผู้ปฏิบัติงานลืมสับคัทเอาท์ก่อนซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า จนอาจจะทำให้เกิดไฟช็อตระหว่างการซ่อมได้
- ผู้ปฏิบัติงานจอดรถในบริเวณไซต์ก่อสร้าง ที่มีความเสี่ยงว่าจะมีสิ่งของหล่นลงมาจากไซต์ก่อสร้าง
อุบัติเหตุ Accident คืออะไร ?
อุบัติเหตุ Accident คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ไม่ได้คิดว่าจะเกิด ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และเมื่อเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบด้านลบต่อตัวงาน ผู้ปฏิบัติงาน เกิดความสูญเสีย สูญหาย เสียหาย ไม่ว่าจะเล็กน้อย ปานกลาง ไปจนถึงผลกระทบขนาดใหญ่ เราจะใช้คำว่า Accident หรือ อุบัติเหตุ ในการระบุเหตุการณ์นั้น ๆ นั่นเอง
ตัวอย่าง Accident
- ผู้ปฏิบัติงานลืมล็อคประตูโรงงาน จนทำให้โดนขโมย
- ผู้ปฏิบัติงานลืมปิดหลอดไฟหลังจากไม่ใช้แล้ว จนทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร
- ผู้ปฏิบัติงานลืมสับคัทเอาท์ก่อนซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า จนทำให้เกิดไฟช็อตระหว่างการซ่อม
- ผู้ปฏิบัติงานจอดรถในบริเวณไซต์ก่อสร้าง ทำให้มีสิ่งของหล่นลงมาทับรถ
โดย Accident นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก Incident เมื่อ Incident ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี หรือไม่ได้รับการปรับปรุงให้เป็น 0 โอกาสที่ Incident จะกลายเป็น Accident ก็มีค่อนข้างสูง โดยหลาย ๆ ครั้งที่ Incident เมื่อเกิดขึ้นแล้ว “เกือบ” เกิดผลกระทบ โดยเราจะเรียกว่า Near miss
เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ Near miss คืออะไร ?
เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ Near miss เป็นคำอธิบายสำหรับเหตุการณ์ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เกือบจะส่งผลกระทบ โดยจะใช้ในการระบุเหตุการณ์ Incident ที่เกิดขึ้นแล้วเกือบจะมีผลกระทบ หรือคาดว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นแน่ ๆ ในอนาคต ดังนั้นหากวิเคราะห์แล้วว่า Incident ไหนที่เข้าข่าย Near miss ควรรีบหาทางแก้ไข หรือมองหาวิธีการในการปรับปรุงโดยด่วน เพื่อไม่ให้กลายเป็น Accident หรืออุบัติเหตุในอนาคตนั่นเอง
วิธีการแก้ไข Incident เพื่อป้องกัน Accident
- ออกแบบเครื่องจักร อุปกรณ์ทำงาน พื้นที่ทำงาน ให้เกิดความปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม
- มองหาสาเหตุของปัญหา สาเหตุที่ทำให้เกิด Incident
- ช่วยกันวิเคราะห์วิธีการยับยั้ง และป้องกันไม่ให้เกิด Incident นั้นๆ อีก
- ออกมาตรการควบคุมภายในพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อป้องกัน Incident
- กำชับผู้ปฏิบัติงานให้เข้าใจมาตรการควบคุม
- หากเกิด Accident แล้ว ให้มองหาวิธีการบำรุงรักษา หรือแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก Accident
- สวมใส่ PPE ตลอดการปฏิบัติงาน
Incident และ Accident หลาย ๆ ครั้งเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ต่างกันตรงที่ไม่ได้มีผลกระทบเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าหากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จะเกิดผลกระทบขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นควรแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิด Incident อีก