ชนิดของอุปกรณ์ป้องกันเสียง (Types of Hearing Protectors)
ที่นิยมใช้กันสามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ คือ
1. ปลั๊กอุดหู (Earplugs)
เป็นอุปกรณ์ป้องกันเสียงชนิดสอดเข้าไปในรูหู (Insert Earplugs) เพื่อปิดกั้นเสียง สามารถแบ่งย่อยได้อีก 3 แบบ ดังนี้
– ชนิดปั้นขึ้นรูป (Formable Earplugs) ส่วนใหญ่นิยมใช้กัน โดยมากทำจากโฟมที่สามารถยืดขยายตัวได้ เวลาใช้งานต้องใช้มือบีบโฟมให้มีขนาดเล็ก ๆ แหลม ๆ แล้วสอดเข้าไปในรูหู ถ้าต้องการใส่ให้ใส่ให้กระชับมากขึ้น ให้เอื้อมมือข้างหนึ่งข้ามศีรษะมาดึงใบหูขึ้น แล้วใช้อีกมือหนึ่งสอดปลั๊กอุดหูเข้าไปในรูหู ข้อดีของปลั๊กอุดหูชนิดนี้
ก็คือ ใส่แล้วกระชับกับรูหูของแต่ละบุคคล มีประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงได้ดีกว่าปลั๊กอุดหูชนิดอื่น ๆ ข้อเสียคือ ก่อนที่จะใช้งานต้องบีบก้อนโฟมให้มีขนาดและรูปร่างตามที่ต้องการ ซึ่งอาจทำให้สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ที่มือนั้นปนเปื้อนไปที่ก้อนโฟม ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในรูหูได้ โดยมากจึงเป็นประเภทใช้แล้วทิ้ง
– ชนิดขึ้นรูปสำเร็จ (Pre-Molded Earplugs) ปลั๊กอุดหูชนิดนี้ จะเป็นแบบมาตรฐานที่ทำจากยางซิลิโคนหรือพลาสติกและมีก้านเสียบไว้ให้มือจับ จึงทำให้สามารถเข้าไปในรูหูของผู้ใช้ถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้น ถ้าหากรูหูของผู้ใช้มีลักษณะแตกต่างจากผู้ใช้คนอื่น ๆ มาก ก็จะทำให้รู้สึกว่าใส่ไม่พอเหมาะหรืออาจเกิดความรำคาญได้
– ชนิดสั่งทำโดยเฉพาะ (Custom–Made Earplugs) เป็นปลั๊กอุดหูชนิดที่ทำขึ้นเพื่อใช้ให้เหมาะกับขนาดรูหูของแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องวัดขนาดรูหูของผู้ปฏิบัติงานเสียก่อน
ปลั๊กอุดหูประเภทใช้แล้วทิ้ง (Disposable Earplugs) ส่วนใหญ่จะทำด้วยโพลียูรีเทนโฟม และพีวีซีโฟม โดยทั้งคู่มีค่าความสามารถในการลดเสียง (NRR) อยู่ระหว่าง 28–33 เดซิเบล แต่พีวีซีโฟมจะมีข้อดีกว่าตรงที่เมื่อสอดเข้าไปในรูหูแล้ว แรงดันในหูจะน้อยกว่าทำให้รู้สึกสบาย ติดไฟยาก ช่วยป้องกันสะเก็ดลูกไฟ และดูดซับน้ำได้ยากจึงช่วยป้องกันการลื่นหลุดออกจากรูหูอันเนื่องมาจากเหงื่อและความชื้น
ส่วนปลั๊กอุดหูประเภทนำมาใช้ใหม่ได้ (Reusable Earplugs) ส่วนใหญ่ทำด้วยยาง ซิลิโคน และเธอร์โมพลาสติก มีค่า NRR อยู่ระหว่าง 24–26 เดซิเบล ข้อดีคือ ประหยัดและใช้ซ้ำได้ ข้อเสียคือ อาจจะเจ็บหูเพราะมีความนุ่มน้อยกว่าประเภทใช้แล้วทิ้ง แต่ถ้าทำจากซิลิโคนจะมีความนุ่มเพราะใกล้เคียงกับผิวหนังมนุษย์ มีอายุการใช้งานได้นาน แต่ราคาค่อนข้างสูง
2. ที่ครอบหู (Earmuffs)
ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ปิดครอบหูส่วนนอกหรือใบหูทั้งหมดเพื่อลดเสียง โดยประสิทธิภาพในการลดเสียงจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ ขนาด รูปทรง โครงสร้างอุปกรณ์และชนิดของสายคาด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของที่ครอบหูอีก เช่น นวมที่บุภายในด้วยของเหลวจะกันเสียงได้ดีกว่านวมพลาสติก หรือโฟม แต่มักประสบปัญหาคือรั่วไหลได้ง่าย
3. ปลั๊กอุดหูชนิดกึ่งสอดพร้อมสายคล้องคอ (Semi-insert Earplugs)
หรือ Ear Canal Caps หรือ Semi–Aural Caps เป็นอุปกรณ์ลูกผสมระหว่างปลั๊กอุดหูกับที่ครอบหู คือมีปลั๊กอุดหูติดอยู่ที่ปลายทั้ง 2 ข้างของสายคล้องคอ ถูกออกแบบมาใช้ปิดภายนอกของรูหูเพื่อลดเสียง โดยใช้ก้านที่คล้องคอคอยดันให้ปิดช่องหู ส่วนมากจะทำด้วยพลาสติกหรือยางที่อ่อนนิ่ม ข้อดีคือ มีน้ำหนักเบา สะดวกสบายเวลาสวมใส่ เป็นการนำข้อดีของปลั๊กอุดหูและที่ครอบหูมารวมกัน ข้อเสียคือมีประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงน้อยกว่าปลั๊กอุดหูแบบสอดและที่ครอบหู
การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียง (Selection of Hearing Protectors) มีหลายปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณา ดังนี้
1. ระดับเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัส (The Noise Exposure Level of the Employees) อุปกรณ์ป้องกันเสียงจะสามารถป้องกันในระดับที่เชื่อถือได้ประมาณ 15 เดซิเบลเอ ให้กับผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ (ประมาณ 84% ของแรงงานทั้งหมด) ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับระดับเสียงเกินกว่า 100 เดซิเบลเอในระหว่างสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียง ก็ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงต่อภาวะการสูญเสียการได้ยินตลอดช่วงการทำงานอยู่ดี
เนื่องจากการจะเริ่มต้นสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียงก็เมื่อระดับเสียงสูงกว่า 85 เดซิเบล อย่างไรก็ตาม หนทางเลือกที่ควรจะเป็นก็คือ ถ้ามีการสัมผัสระดับเสียงที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 เดซิเบลเอ ควรเลือกใช้ปลั๊กอุดหูหรือที่ครอบหู แต่ถ้าสัมผัสระดับเสียงที่มากกว่า 100 เดซิเบลเอ ก็ควรเลือกใช้ปลั๊กอุดหูควบคู่กับที่ครอบหู
2. ระดับเสียงที่ต้องการลด (The Degree of Attenuation Required) ในการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียง สิ่งสำคัญที่ควรรับรู้ก็คือ ระดับเสียงที่สัมผัส (Noise Exposure Level) และค่าความสามารถในการลดเสียง (Noise Reduction Rating: NRR) ของอุปกรณ์ป้องกันเสียง ซึ่งเป็นระดับที่คาดหวังของการลดเสียงเมื่อสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง โดยค่า NRR
จะมีการแจ้งอยู่บนป้ายฉลากของอุปกรณ์ป้องกันเสียงซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดและผู้ผลิตแต่ละราย ซึ่งค่า NRR ที่ผู้ผลิตระบุไว้นั้นถูกวัดภายใต้สภาพแวดล้อมในห้องทดลอง จึงมักสูงกว่าค่าที่วัดได้ในสภาพการใช้งานจริง ดังนั้นในการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียง ก็ควรมีการปรับลดค่า NRR เสียก่อน