บทความโดย: อาจารย์ ประวิทย์ เทพสงเคราะห์
กฎหมายได้มีการบังคับให้นายจ้าง ต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง
ฉบับเก่า “ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547 ”
ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงได้มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น
ฉบับใหม่ เรื่อง “ กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้าง ซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. 2563 ” ได้ออกมายกเลิกกฎกระทรวง พ.ศ. 2547 แล้ว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563
บทนำ:
การตรวจสุขภาพ คืออะไร ?
การตรวจสุขภาพ หมายถึง การตรวจร่างกายและสภาวะทางจิตใจตามวิธีทางการแพทย์ เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสมของสภาวะสุขภาพของลูกจ้าง หรือผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างอันอาจเกิดจากการทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง
คุณสมบัติแพทย์ที่ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง
ต้องเป็นแพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ หรือผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ ตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง
งานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง มีอะไรบ้าง ?
งานที่ลูกจ้างทำเกี่ยวกับ
- สารเคมีอันตรายตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยดูจาก ประกาศกระทรวงแรงงาน “ เรื่อง กำหนดสารเคมีอันตรายที่ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง พ.ศ. 2552 ”
- จุลชีวันเป็นพิษที่อาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา หรือสารชีวภาพอื่น
- กัมมันตภาพรังสี
- ความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน ความกดดันบรรยากาศ แสง หรือเสียง
- สภาพแวดล้อมอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกจ้าง เช่น ฝุ่นฝ้าย ฝุ่นไม้ ไอควันจากการเผาไหม้
หากให้ลูกจ้างทำงาน ตามลักษณะงานด้านบน ต้องจัดให้ลูกจ้างผู้นั้นได้รับการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงนั้น
การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็น 2 แบบ
- การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน
ทางบริษัทจะต้องกำหนดรายการที่ต้องตรวจสุขภาพ เพื่อให้พนักงานทำการตรวจสุขภาพและนำผลการตรวจนั้นมายืนยันกับบริษัทก่อนวันเริ่มงาน โดยส่วนใหญ่รายการตรวจสุขภาพ ก็จะเป็นรายการตรวจสุขภาพพื้นฐานทั่วๆไป ที่สำคัญการตรวจก่อนเริ่มงานนี้จะเป็นตัวยืนยันว่าก่อนที่ลูกจ้างจะเข้ามาทำงานกับเรานั้นลูกจ้างมีสุขภาพแข็งแรงหรือมีโรคประจำอะไรหรือไม่ เช่น หูตึงมาอยู่แล้ว หรือ มีสารเคมีในเลือดมาอยู่ก่อนแล้ว หากบริษัทไม่มีการตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงานหลายครั้งเมื่อพนักงานลาออกและมีการฟ้องร้องว่าได้รับผลกระทบด้านสุขภาพเพราะสภาพแวดล้อมในโรงงาน นายจ้างก็จะเอาผลตรวจก่อนเริ่มงานนี้ไปยืนยันกับราชการหรือชั้นศาลได้ หากบริษัทไหนไม่มีการตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงานก็ค่อนข้างที่จะต้องรับความเสี่ยงตรงนี้เช่นกัน - การตรวจสุขภาพประจำปี
เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปตามตำแหน่งงานต่างๆและความเสี่ยงในการสัมผัสเช่น แสง เสียง ความร้อน สารเคมี เพื่อดูว่าสุขภาพในแต่ละปีนั้นลูกจ้างมีสุขภาพปกติดีอยู่และสามารถทำงานได้อยู่หรือไม่
ระยะเวลาในการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงนายจ้างจะต้องจัดให้มีดังนี้
- การตรวจสุขภาพครั้งแรก ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และจัดให้ตรวจสุขภาพครั้งถัดไป อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- กรณีที่ลักษณะหรือสภาพงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพ ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างตามระยะเวลานั้น เช่น งานอับอากาศ งานที่สูง งานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตราย เป็นต้น
- กรณีที่นายจ้างเปลี่ยนงานที่ปัจจัยเสี่ยงของลูกจ้างแตกต่างไปจากเดิม ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างทุกครั้งให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เปลี่ยนงาน
ทำไมต้องตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง ตามระยะเวลาที่ต่างกัน ?
เหตุผลเพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับลูกจ้าง เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานที่มีความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งอาจทำให้สภาวะสุขภาพของลูกจ้างเปลี่ยนไปจากเดิม (ผลสุขภาพก่อนเข้าทำงาน)
ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง ในสถานประกอบกิจการ โรงงานเริ่มต้นอย่างไรดี ?
ก่อนอื่นส่วนใหญ่มักเริ่มจากเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือ จป. ทำการประเมินความเสี่ยงแต่ละแผนกถึงการรับสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่พนักงานของเรานั้นได้สัมผัส โดยนำหลักการประเมินเช่น ความถี่ ระยะเวลา และ ความรุ่นแรงมาประเมินที่สำคัญต้องรู้ก่อนว่าลักษณะการทำงานของพนักงานแต่ละคนต้องทำอะไรบ้างและประเมินจากความเป็นจริงเท่านั้นตัวอย่าง
– มีการสัมผัสสารเคมีอันตรายอะไร ชนิดไหน
– มีการทำงานกับเสียงดัง
– มีการทำงานกับแสงจ้า
– มีการทำงานกับความร้อน เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ จป. (เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน) เป็นผู้วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง เพื่อนำรายการความเสี่ยงต่างๆที่พนักงานสัมผัสมาจัดโปรแกรมการตรวจสุขภาพให้กับพนักงานแต่ละคน หรืออาจใช้บริการของสถานบริการตรวจสุขภาพ ที่มีบริการสำรวจหน้างานแล้วจัดโปรแกรมการตรวจให้ก็ได้เช่นกัน
เมื่อเราได้โปรแกรมการตรวจสุขภาพมาแล้วก็เริ่มหาสถานบริการตรวจสุขภาพโดยแต่ละสถานบริการจะนำเสนอรูปแบบการตรวจ และ โปรโมชั่นมากมายเพื่อดึงดูดความสนใจ ให้เราใช้บริการ โดยโปรแกรมที่สถานบริการเสนอมา ก็มีทั้งโปรแกรมการตรวจสุขภาพพื้นฐาน และโปรแกรมการตรวจตามปัจจัยเสี่ยง ซึ่งโปรแกรมการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ก็อยู่ที่เราตกลงกับทางสถานบริการว่าจะตรวจในลักษณะไหน บางบริษัทก็จะแบ่งตามช่วงอายุ บางบริษัทก็ใช้โปรแกรมการตรวจพื้นฐานที่เหมือนกันทุกคนทั้งบริษัท และ ตรวจเพิ่มเข้าไปในส่วนของปัจจัยเสี่ยง
ทางสถานบริการตรวจสุขภาพ ก็จะเสนอราคาโปรโมชั่น ในการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ให้กับพนักงานในบริษัท ในราคาที่ถูกกว่าปกติ เช่น การตรวจมะเร็งต่างๆ ซึ่งก็อยู่ที่ความสมัครใจของพนักงานเองว่าจะตรวจหรือไม่
ในการพิจารณาในการเลือกสถานบริการตรวจสุขภาพ ไม่ควรคำนึงแค่ราคาหรือโปรโมชั่น เพียงอย่างเดียว เพราะจากประสบการณ์ วันที่เราได้จัดให้มีการตรวจสุขภาพภายในบริษัทฯ จะมีพนักงานบางส่วนที่ไม่สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ เช่น ติดภาระกิจ ประชุม หรือ ทำโอทีในกระบวนการผลิต อื่นๆ กลุ่มคนเหล่านี้จะต้องเดินทางไปตรวจสุขภาพเองที่สถานบริการตรวจสุขภาพที่บริษัทฯได้เลือกไว้ให้ ดังนั้นสถานที่ จึงเป็นส่วนสำคัญหากเราเลือกสถานบริการตรวจสุขภาพที่มีระยะทางไกลมากไป จะทำให้พนักงานส่วนที่เหลือ ไม่สามารถเดินทางไปตรวจด้วยตนเองได้ หรือเดินทางยากลำบากนั้นเอง
และ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก คือการตรวจสมรรถภาพปอด โดยวิธีการเป่าปอด ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จะเป็นการแพร่เชื้อโรคหรือไม่ หากจำเป็นต้องตรวจโดยวิธีการเป่าปอด ก็ต้องมีมาตรการหรือวิธีการป้องกันเป็นอย่างดี เช่น จากปกติการเป่าปอด เราจะจัดในห้องแอร์ ก็เปลี่ยนสถานที่ เป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และ ต้องเว้นระยะห่างมากพอ มีฉากกั้น ระหว่างผู้เป่าปอด กับบุคลากรที่ทำการตรวจสุขภาพ รวมทั้ง PPE ในการป้องกัน และการทำความสะอาดเครื่องเป่าปอดด้วย
ผลการตรวจสุขภาพ
เมื่อเราจัดให้มีการตรวจสุขภาพแล้ว เราก็ต้องมีสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงด้วย ซึ่งสมุดสุขภาพ ก็มีรูปแบบที่กำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และต้องมีการบันทึกผลการตรวจสุขภาพในสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้าง
นายจ้างต้องเก็บบันทึกผลการตรวจสุขภาพลูกจ้าง ที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงไว้ ณ สถานประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันที่สิ้นสุดการจ้าง แต่หากงานที่ลูกจ้างทำ มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดโรคมะเร็งจากการทำงานตามประกาศกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดชนิดของโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน ให้เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี นับแต่วันที่สิ้นสุดการจ้าง
หากพบผลการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานกับปัจจัยเสี่ยงผิดปกติ หรือลูกจ้างมีอาการหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานนายจ้างต้องรีบให้การรักษาทันทีและตรวจสอบหาสาเหตุความผิดปกติเพื่อป้องกันต่อไป และนายจ้างต้องส่งผลการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ผิดปกติหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน การให้การรักษา และการป้องกันแก้ไข ต่อพนักงานตรวจความปลอดภัย ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบความผิดปกติหรือการเจ็บป่วยของลูกจ้าง
ในกรณีที่มีหลักฐานทางการแพทย์ระบุว่า ลูกจ้างผู้นั้นไม่สามารถทำงานในหน้าที่เดิมได้ นายจ้างต้องเปลี่ยนงานให้ลูกจ้าง โดยต้องคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างเป็นเรื่องสำคัญ
สุดท้าย
การแจ้งผลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้ลูกจ้างได้รู้
- กรณีผลการตรวจสุขภาพผิดปกติ ให้แจ้งให้ลูกจ้างผู้นั้นภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ทราบผลการตรวจ
- กรณีผลการตรวจสุขภาพปกติ ให้แจ้งให้ลูกจ้างผู้นั้น ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ทราบผลการตรวจ
- นายจ้างมอบสมุดสุขภาพประจำตัวให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง เมื่อสิ้นสุดการจ้าง
บริการแนะนำเผื่อคุณสนใจ
ดูหลักสูตรทั้งหมด
อบรมความปลอดภัยในการทำงานมากกว่า 100+ หลักสูตร
สินค้า PPE
สินค้าอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
ตรวจรับรองวิศวกรรม
ตรวจสอบระบบวิศวกรรมในโรงงานโดยวิศวกรมืออาชีพ