พนักงานที่ปฏิบัติงานบนที่สูงต้องตรวจสุขภาพอะไรบ้าง
การทำงานบนที่สูงถือเป็นงานเสี่ยงอันตรายที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุนั้นมักเกิดจากความประมาทของผู้ปฏิบัติงานเช่นทำงานด้วยความไม่ระมัดระวัง หรือ ไม่สวมใส่อุปกรณ์ PPE ขณะปฏิบัติงานเป็นต้น
ปัจจุบันมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานของประเทศไทยได้มีการยกระดับสูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าก่อนที่จะเริ่มงานเสี่ยงต่างๆ จะมีความปลอดภัยและมาตรการที่เพียงพอให้ลูกจ้างไม่เกิดอุบัติเหตุ
การตรวจสุขภาพพนักงานที่ทำงานบนที่สูงก่อนเริ่มงานจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ จป (เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน) ให้ความสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าตัวผู้ปฏิบัติงานนั้นมีสภาพ หรือ สุขภาพร่างกายที่พร้อมสำหรับงานบนที่สูง หรือมั่นใจว่า พนักงานที่ทำงานบนที่สูง จะไม่เกิดโรคประจำตัวกำเริบขณะปฏิบัติงานบนที่สูง และที่สำคัญพนักงานที่ทำงานบนที่สูงจะต้องได้รับการฝึกอบรมที่สูงก่อนเริ่มทำงานตามที่กฎหมายกำหนด
ตัวอย่างของรายการตรวจสุขภาพที่สำคัญเช่น การตรวจว่าพนักงานที่ปฏิบัติงานบนที่สูงนั้นมีโรคกลัวความสูง (Acrophobia) หรือไม่ มีโรคประจำตัว หรือไม่ หรือ โรคที่แพทย์อาจจะวินิยฉัยว่าส่งผลอันตรายขณะทำงานบนที่สูงได้
ดังนั้นการตรวจสุขภาพพนักงานที่ทำงานบนที่สูงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้นไปอีกถึงแม้ว่าปัจจุบันกฎหมายจะยังไม่ได้มีการบังคับก็ตาม
เราจะประเมินได้อย่างไรว่าพนักงานคนใดพร้อมที่จะทำงานบนที่สูง?แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวความสูง (Acrophobia) คงทำงานบนที่สูงได้ไม่ค่อยดีนัก แต่โรคอื่นๆที่ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะทำงานบนที่สูง เช่น โรคของหูชั้นในและโรคระบบประสาท ที่อาจทำให้การทรงตัวผิดปกติ ยิ่งเจอสภาพโคลงเคลงบนที่สูง ลมพัดแรงๆ แล้วด้วย ยิ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายกว่าคนปกติ หรือหากมี โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือ โรคลมชัก แล้วมีอาการกำเริบระหว่างอยู่บนที่สูงคงจะช่วยเหลือได้ลำบาก
การซักประวัติโรคประจำตัวของผู้ที่ทำงานบนที่สูงควรครอบคลุมกลุ่มโรคที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานให้ครบถ้วน
สำหรับสมรรถภาพร่างกายที่จำเป็นนั้น ความสามารถในการทรงตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานบนที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องมีกิจกรรมระหว่างอยูบนที่สูง เช่น เช็ดกระจก ก่อสร้าง หรือเดินบนทางแคบๆ การทรงตัวที่ดีช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานบนที่สูงได้ หรือในทางกลับกัน ผู้ที่มีการทรงตัวที่ไม่ค่อยดีนักมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุตกจากที่สูงได้ง่ายกว่านั่นเอง
แพทย์สามารถตรวจร่างกายเพื่อประเมินความสามารถในการทรงตัวได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการตรวจ Romberg Test (standing) การตรวจทำได้ง่ายมากครับ เพียงให้ผู้เข้ารับการตรวจยืนนิ่งแขนแนบลำตัวลืมตาไว้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งนาที จากนั้นให้หลับตายืนต่อไปอีกหนึ่งนาที หากไม่สามารถทรงตัวอยู่นิ่งได้แสดงว่าอาจมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้การทรงตัวผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการทำงานบนที่สูง
นอกจากการทำงานบนที่สูงแล้วหากเป็นงานที่ยืนนานๆและต้องอาศัยการทรงตัวที่ดี เช่น การขับรถโฟล์คลิฟท์ในท่ายืน ควรพิจารณาให้มีการตรวจร่างกายนี้ด้วย
ข้อจำกัดของ Romberg’s Test คือเป็นการวัดสมรรถภาพการทรงตัวอยู่นิ่งๆ อยู่กับที่เท่านั้น แต่หากการทำงานบนที่สูงมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายที่ระหว่างการทำงานบนที่สูง โดยเฉพาะถ้ามีทางเดินแคบๆทรงตัวยากแล้วละก็ควรมีการตรวจ ความสามารถในการทรงตัวระหว่างการเดิน เพิ่มเติมด้วยครับ นอกจากการทรงตัวแล้วความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อก็มีความสำคัญหากมีมวลกล้ามเนื้อน้อยมากอาจเป็นอุปสรรคในการปีนป่ายขึ้นไปทำงานบนที่สูง อย่างไรก็ตามคงไม่ถึงขนาดที่จะแนะนำให้คนที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยไม่ให้ทำงานบนที่สูง แต่แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อเป็นประจำดีกว่า