การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย JSA Job Safety Analysis

JSA job analysis for safety

เครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย JSA

JSA คือ เครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์ หรือ ประเมินอันตรายปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้นในการนำมาใช้ประเมินความเสี่ยงอันตรายในงานต่าง ๆ เพื่อหามาตรการควบคุมและป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุในกิจกรรมนั้นๆ

ซึ่งจะแตกต่างกับเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างพวก PDCA

JSA ย่อมาจาก Job Safety Analysis

1. ศึกษาและบันทึกขั้นตอนของงานเพื่อให้ทราบถึงอันตรายที่มีอยู่หรือแฝงอยู่ในงานหรือกิจกรรมนั้น 
2. กำหนดแนวทางที่ดีที่สุดในการทำงาน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยง , ลด , หรือขจัด รวมทั้งการป้องกัน , ควบคุมอันตรายในทุกขั้นตอนอย่างครอบคลุม

หน่วยงานที่ได้นำเอาวิธีการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังจะช่วยให้การ ทำงานสำเร็จโดยรวดเร็วและราบรื่นลดการเกิดอุบัติเหตุ

หลักการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยอาศัยหลัก 3 ประการ คือ 
1. ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำงาน 
2. ประเมินผลของอันตรายนั้น 
3. หามาตรการป้องกันหรือควบคุมอันตรายนั้น

ผู้ดำเนินการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย

ผู้ดำเนินการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ควรจะเป็นผู้ที่เข้าใจ ขั้นตอนการทำงาน (Process) ของงานเป็นอย่างดี สามารถแยกแยะขั้นตอนของงานได้อย่างละเอียด และ ทราบถึงอันตรายที่แฝงมากับขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนั้นแล้วยังทราบถึงขนาดความรุนแรงของอันตรายและวิธีการป้องกันอันตรายนั้น ผู้ที่ทำการประเมิน JSA ส่วนใหญ่มักจะให้ จป.หัวหน้างาน หรือ จป.ระดับต่างๆ ในองค์กรเป็นผู้จัดทำ JSA เพราะมีความรู้ความเข้าใจกระบวนการทำงานของฝ่ายตนเองเป็นอย่างดี และ เสนอแนะที่ดียิ่งขึ้นการทำ JSA ควรให้พนักงานมีส่วนร่วมจะทำให้การวิเคราะห์นี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และถูกต้องกับหน้างานจริงอีกด้วย

พนักงานที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะวิเคราะห์

ในการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยนั้น พนักงานสามารถมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์กิจกรรม jsa ได้เป็นทั้งผู้ช่วยเหลือในการให้คำตอบและรายละเอียดการทำงานจริงในขั้นตอนต่าง ๆ หรือเป็นตัวอย่างสาธิตเพื่อวิจัยหาอันตรายที่แฝงมากับขั้นตอนการทำงาน

ข้อสำคัญเกี่ยวกับการคัดเลือกพนักงานที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำ jsa ควรพิจาณากลุ่มพนักงานดังนี้ 
1. ควรเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์ในงานนั้น และเป็นผู้ที่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ในการเฝ้าสังเกตการทำงาน 
2. ควรชี้แจงให้พนักงานทราบถึงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงอันตรายเพื่อการขจัดและการควบคุมอันตรายนั้น มิใช่เป็นการเฝ้าสังเกตเพื่อจับผิดพนักงาน 
3. ควรจะให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์งานทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทบทวนเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ของงาน การหารือเกี่ยวกับอันตรายที่แฝงอยู่ในงานนั้นและการเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไข

ขั้นตอนการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย

การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้ 

1. เลือกงานที่จะวิเคราะห์เพื่อความปลอดภัย 

2. การดำเนินการวิเคราะห์เพื่อความปลอดภัย 
2.1แยกงานที่จะวิเคราะห์ออกเป็นขั้นตอนย่อย 
2.2 ค้นหาอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน 
2.3 การเสนอแนะเพื่อป้องกันอันตรายและปรับปรุงแก้ไข 

3. การปรับปรุงแก้ไขการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ
การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย
1. พิจารณาเลือกงานที่จะวิเคราะห์จากงานต่าง ๆ ในหน่วยงาน 
2. งานที่ได้รับการเลือกเพื่อการวิเคราะห์ก่อนลำดับแรกมักเป็นงานที่มีอันตรายและความสำคัญสูงสุด 
3. ควรจะชี้แจงและหารือกับพนักงานที่ทำงานนั้นให้เป็นที่เข้าใจแล้วจึงค่อยเริ่มทำ JSA 
4. แบ่งแยกงานที่จะวิเคราะห์ออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ ยิ่งย่อยมากเท่าไรยิ่งดี 
5. ค้นหาอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน 
6. ระบุเสนอแนะเพื่อการป้องกันอันตรายและปรับปรุงแก้ไขของแต่ละขั้นตอน 
7. ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะหากสามารถทำได้ทันที 
8. จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยเป็นระยะ เพื่อให้การวิเคราะห์นั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด

เราควรเลือกงานไหนมาทำ JSA ?

แนวทางการเลือกงานที่จะวิเคราะห์เพื่อความปลอดภัย JSA

โดยปกติแล้วงานทุกงานควรจะได้รับการวิเคราะห์เพื่อความปลอดภัย ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานพิเศษหรืองานประจำ แต่การที่จะเลือกเพื่อทำการวิเคราะห์นั้นจะต้องเป็นไปตามระดับอันตรายและความสำคัญของงานนั้น ในการจัดลำดับความสำคัญของงานต่าง ๆ ควรจะพิจารณาจากสถิติ , ข้อมูล และรายงานต่าง ๆ ของหน่วยงานดังเช่น 

1. ความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุของงาน 
2. งาน หรือ กิจกรรมที่ชั่วคราว หรือทำเป็นครั้งคราว
3. ลักษณะของความรุนแรงที่แฝงอยู่ในงาน 
4. งานใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องมือชนิดใหม่ เป็นต้น

การดำเนินการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย 
ก่อนที่จะเริ่มลงมือวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ควรจะได้ทำการสำรวจสภาวะแวดล้อมของงานนั้น ๆ โดยใช้แบบฟอร์มสำรวจที่ประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้ 
1. มีวัสดุเกะกะอยู่กับพื้นที่อาจทำให้พนักงานสะดุดลื่นล้มหรือไม่ 
2. แสงสว่างในบริเวณพื้นพอเพียงหรือไม่ 
3. มีอันตรายที่อาจเกิดจากไฟฟ้าในบริเวณนั้นหรือไม่ 
4. มีเครื่องมือ เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ต้องซ่อมหรือไม่ 
5. มีเสียงดังในบริเวณงานที่เป็นอุปสรรคในการสนทนาหรือไม่ 
6. อาจมีการระเบิดในบริเวณนั้นหรือไม่ 
7. เครื่องป้องกันและผจญเพลิงมีพร้อมที่จะใช้ได้หรือไม่ และพนักงานได้รับการฝึกเพื่อใช้งานหรือไม่ 
8. เครื่องจักรกลที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายสิ่งของที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นหรือไม่ เช่น เบรก , ที่กั้น
เหนือศีรษะ , ให้สัญญาณ , เสียงสัญญาณ 
10. มีการทำเครื่องหมายชี้ทางออกฉุกเฉินหรือไม่ 
11. พนักงานได้รับการฝึกอบรมในการทำงานหรือไม่ 
12. พนักงานได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันในการทำงานอย่างเหมาะสมหรือไม่ 
13. มีพนักงานบ่นปวดศีรษะ มีปัญหาการหายใจ วิงเวียนหรือได้รับกลิ่นฉุนหรือไม่ 
14. การระบายอากาศมีเพียงพอหรือไม่ 
15. มีการทดสอบ , ตรวจวัดว่ามีปริมาณออกซิเจน , ไอหรือก๊าซพิษหรือไม่ 

สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยช่วยให้ผู้ที่จัดทำการประเมินนั้นมีความแม่นยำที่จะหามาตรการควบคุมและป้องกันอันตรายได้อย่างครอบลุม

ลด 40%

บทความและหลักสูตรที่น่าสนใจ