ความปลอดภัยในการทำงานสำหรับพนักงานเข้าทำงานใหม่
เมื่อพูดถึงพนักงานใหม่ที่บริษัทรับเข้ามาทำงาน สิ่งแรกที่น่าเป็นห่วงนอกจากการเรียนรู้วิธีการทำงานแล้วคือเรื่องของอุบัติเหตุจากการทำงานซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับพนักเข้าทำงานใหม่เนื่องจากความใหม่ก็จะทำให้ขาดทักษะ ขาดความชำนาญ ขาดความรู้ต่างๆ ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับพนักงานกลุ่มเหล่านี้ได้โดยง่าย
หากพูดถึงด้านความปลอดภัยในการทำงานพนักงานใหม่ทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรด้านความปลอดภัยสำหรับพนักงานใหม่ ตาม “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้าง ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน “
ซึ่งได้ระบุไว้ในหมวด 1 ข้อ 2 ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอยามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัยแก่ลูกจ้างระดับบริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้บังคับใช้
นอกจากประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดว่า ต้องฝึกอบรมภายใน 60 วัน นับแต่ที่ประกาศนี้บังคับใช้ และยังได้กำหนดหลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย สำหรับลูกจ้างเข้างานใหม่ ไว้ใน “หมวด 2 หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” อีกด้วย
โดยได้กำหนดหลักสูตรเอาไว้อย่างชัดเจนในข้อ 7 สำหรับลูกจ้างเข้าทำงานใหม่โดยต้องมีระยะเวลาฝึกอบรม 6 ชั่วโมงดังนี้
- ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 1 ชั่วโมง 30 นาที
- กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 1 ชั่วโมง 30 นาที
- ข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 3 ชั่วโมง
กฎกระทรวงยังกำหนดเอาไว้อีกว่า หากพนักงานใหม่ที่บริษัทรับเข้ามา ผ่านการอบรมข้อ (1) และ (2) จากที่
ทำงานเดิมมาแล้ว ให้อบรมเฉพาะ (3) เท่านั้น แต่พนักงานใหม่ที่รับเข้ามา ต้องมีหลักฐานแสดงการผ่านการอบรมมาแสดงด้วย ซึ่งหลายบริษัทจะออกใบประกาศ เพื่อเป็นหลักฐานให้กับพนักงานที่ผ่านการอบรม ตามหลักสูตร ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
สำหรับข้อ (3) ข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแต่ละบริษัทจะแตกต่างกันออกไปแต่โดยทั่วไปแล้วจะพูดถึงข้อบังคับด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานต่างๆภายในบริษัทมีการทำงานอะไรบ้างก็จะถูกพูดถึงในข้อบังคับนี้หรืออาจรวมถึงกฎระเบียบของบริษัทและบทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามซึ่งในข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานจะมีเนื้อหาค่อนข้างเยอะ ยกตัวอย่างเช่น ข้อบังคับในการปฏิบัติงานกับสารเคมี จะถูกระบุไว้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่การแต่งกาย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน สิ่งที่ต้องระมัดระวังหรือต้องหลีกเลี่ยง เป็นต้น
ซึ่งหากต้องการดูตัวอย่างข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน สามารถดูได้จาก website ต่างๆ จะมีตัวอย่างให้ได้ศึกษาเพิ่มเติม
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงหลักสูตรฝึกอบรมพนักงานใหม่ตามกฎกระทรวงเท่านั้น ซึ่งในหลายๆ บริษัท ยังมีหลักสูตรเพิ่มเติม สำหรับพนักงานใหม่อีกด้วย เช่น หากเรารับพนักงานเข้ามา ในส่วนของพนักงานฝ่ายผลิต ก็จะมีการอบรมเพิ่มเติมเฉพาะทางในงานนั้นๆ อีกด้วย เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจในหน้างานของตนเองมากขึ้น หรือ การอบรมเพิ่มเติมด้านความปลอดภัย เช่น Safety Dojo Training คือ การฝึกอบรมด้านความปลอดภัย โดยการจำลองเอาเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ที่มีลักษณะเหมือนหน้างานจริง มาสอนให้กับพนักงาน ให้เห็นถึงอันตราย และข้อควรระวังในการทำงานนั้นๆ และให้พนักงานได้ทดลองใช้เครื่องนั้นๆ เพราะหากตัวพนักงานได้สัมผัสกับเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ก่อนการทำงานจริง ก็จะเกิดความตระหนักมากขึ้น หรือบริษัทญี่ปุ่น จะเน้นในเรื่องของ KYT (KIKEN YOCHI TRAINING) เพื่อให้พนักงานสามารถคาดการณ์อันตรายล่วงหน้าได้ เพราะหากพนักงานสามารถคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดอันตรายได้ ก็จะเกิดความตระหนัก และสามารถป้องกันอันตรายนั้นๆ ได้
นี่เป็นเพียงบางส่วนของการอบรมด้านความปลอดภัยเท่านั้น ในหลายบริษัทยังมีหลักสูตรต่างๆ อีก มากมาย เพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยของบริษัทเอง
นอกจากหลักสูตรฝึกอบรมตามกฎหมายแล้วต้องคำนึงถึงวิทยากรในการฝึกอบรมด้วยซึ่งได้กำหนดไว้ใน
หมวด 3 วิทยากรฝึกอบรม มีการกำหนดคุณสมบัติของวิทยากรเอาไว้ โดยสามารถศึกษาได้จาก กฎหมายฉบับเต็ม
“ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้าง ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน “