ความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักร

บทความโดย: ประวิทย์ เทพสงเคราะห์

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักร

กฎหมายการทํางานเกี่ยวกับ เครื่องจักร ปั้นจั่น และ หม้อน้ำ 2564

บ่อยครั้งที่พนักงานที่ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรชนิดต่างๆ นั้นเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงานโดยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้นมีหลายปัจจัยเช่น เกิดจาก สภาพการณ์เครื่องมือ หรือ อุปกรณ์ไม่ปลอดภัย (Hardware) เกิดจากวิธีการทำงานไม่ปลอดภัย (Software) และ ความประมาทของตัวบุคคล (Hunman ware) ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากความประมาทของผู้ปฏิบัติงานเองเป็นส่วนมาก

ในกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องจักร ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

“เครื่องจักร”  หมายความว่า  สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับก่อกำเนิดพลังงาน เปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์ ล้อตุนกำลัง รอก สายพาน เพลา เฟือง หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสัมพันธ์กัน รวมทั้งเครื่องมือกล

เรียกได้ว่าครอบจักรวาลกันเลยทีเดียวไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดก็ตามที่มีส่วนประกอบ หรือกลไกเหล่านี้เข้าใจตรงกันว่าอยู่ในการบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับนี้นะครับไปกันต่อ..

“เครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร” หมายความว่าส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ที่ออกแบบหรือติดตั้งไว้บริเวณที่อาจเป็นอันตรายของเครื่องจักรเพื่อช่วยป้องกันอันตรายแก่บุคคลที่ควบคุมหรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียง

หากพูดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายสรุปได้ดังนี้

ข้อ 6 นายจ้างต้องดูแลให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรปฏิบัติ คำว่านายจ้างก็ไม่ใช่แต่เพียงเจ้าของเพราะในที่นี้คนที่ดูแลพนักงาน หรือ เรียกอีกชื่อคือตัวแทนนายจ้างก็ได้แก้ จป.บริหาร จป.หัวหน้างานนี่เอง จะต้องช่วยกันควบคุมดูแลให้พนักงานต้องปฏิบัติดังนี้

  1. สวมใส่เครื่องนุ่งห่มให้เรียบร้อยรัดกุม (จำทำเป็น WI การแต่งตัวเลยจะเยี่ยมยอดมาก)
  2. ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่อาจเกี่ยวโยงกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ (ควรกำหนดในกฎระเบียบการทำงาน)
  3. รวบผมที่ปล่อยยาวเกินสมควรหรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้อยู่ในลักษณะที่ปลอดภัย (กฎหมายไม่ได้บอกว่าห้ามคนผมยาวทำงานนะแต่บอกว่าให้รวบผมให้เรียบร้อย)

จากข้อกำหนดของกฎกระทรวงข้างต้น บริษัทหรือนายจ้างควร กำหนดเป็นกฎระเบียบขึ้นมา จัดทำ WI ให้ชัดเจน และกำหนดให้พนักงานต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน

ข้อ 7 บริเวณที่มีการติดตั้ง ซ่อมแซม หรือการตรวจสอบเครื่องจักร หรือเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร นายจ้างต้องติดป้ายแสดงการดำเนินการดังกล่าวโดยใช้เครื่องหมายหรือข้อความที่เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งใช้ระบบ วิธีการ หรืออุปกรณ์ป้องกัน ไม่ให้เครื่องจักรนั้นทำงาน และแขวนป้ายแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ห้ามเปิดสวิตช์ไว้ที่สวิตช์ของเครื่องจักรด้วย

จากข้อกำหนดข้างต้น ควรจัดให้มีระบบการขออนุญาตทำงาน (Workpermit) รวมไปถึงการทำระบบ Logout Tagout (LOTO) เข้ามาใช้ ในการทำงานกับเครื่องจักร พร้อมติดป้ายเตือนให้เรียบร้อยเป็นอันจบ

Logout-Tagout

ข้อ 8 การประกอบ การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ และ การซ่อมแซม การบำรุงรักษา การตรวจสอบ การรื้อถอน หรือการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร รถยก ลิฟต์ เครื่องจักรที่ใช้ยกคนขึ้นทำงานบนที่สูง จะต้องปฏิบัติตามคู่มือที่ผู้ผลิตกำหนดเอาไว้ หากไม่มีรายละเอียดหรือคู่มือในการใช้งานเครื่องจักร นายจ้างต้องจัดให้มีวิศวกรเป็นผู้จัดทำรายละเอียดคุณษณะและคู่มือการใช้งานเป็นหนังสือ และต้องมีสำเนาเก็บไว้ให้ราชการสามารถตรวจสอบภายหลังได้อีกด้วย

ข้อ 9 นายจ้างต้องดูแลให้ลูกจ้างที่ทำงานกับเครื่องจักร ตรวจสอบเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดีและปลอดภัยก่อนการใช้งาน ตามระยะเวลาการใช้งานที่เหมาะสม และจัดให้มีการตรวจรับรองประจำปีตามชนิดและประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด

และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบเครื่องจักรตามการใช้งาน เช่น การตรวจสอบเครื่องจักรประจำวัน (Machine daily check) ก่อนการใช้งาน โดยผู้ใช้งานเอง หรือการตรวจสอบตามรอบที่กำหนด เช่น การตรวจสอบปั้นจั่น ลิฟต์ เป็นต้น

ข้อ 7 ห้ามมิให้นายจ้างใช้หรือยินยอมให้ลูกจ้างใช้เครื่องจักรทำงานเกินพิกัดหรือขีดความสามารถที่ผู้ผลิตกำหนด

จะเห็นว่า ปั้นจั่น รถยก ลิฟต์ หรืออุปกรณ์การยกอื่น จะติดป้ายพิกัดน้ำหนักไว้ อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นพิกัดนำหนักที่กำหนดไว้ 

ข้อ 8 เครื่องปั๊มโลหะ เครื่องเจีย เครื่องตัด เครื่องไส หรือเครื่องจักรที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพ นายจ้างต้องประกาศกำหนดวิธีการทำงาน และติดไว้บริเวณที่ลูกจ้างทำงาน

กฎกระทรวงกำหนดว่า นายจ้างต้องประกาศกำหนดวิธีการทำงานและติดไว้บริเวณที่ลูกจ้างทำงาน เราจึงเห็นว่า จุดทำงานของลูกจ้าง จะมีเอกสารขั้นตอนการทำงาน หรือเอกสารวิธีการทำงาน ติดเอาไว้ และมีการอบรมให้กับพนักงานที่ปฏิบัติงานนั้น เพื่อให้รู้และเข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย หรือเรียกสั้นๆว่า“WI (Work Instruction) หรือ WS (Work Standard)”หรือชื่ออื่นๆ ที่ใช้เรียกกัน ภายในสถานประกอบการนั้นๆ

ข้อ 9 ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับเครื่องปั๊มโลหะ เครื่องเชื่อมไฟฟ้า เครื่องเชื่อมก๊าซ รถยก หรือเครื่องจักรที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพที่อธิบดีประกาศกำหนด นายจ้างต้องใช้ลูกจ้างที่มีความชำนาญในการใช้เครื่องจักรนั้น และผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 10 นายจ้างต้องดูแลให้พื้นบริเวณรอบเครื่องจักรอยู่ในลักษณะที่ปลอดภัย

ข้อ 11 นายจ้างต้องจัดให้มีวิธีการดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายจากการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ดังต่อไปนี้

  1. เครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้าต้องมีระบบหรือวิธีการป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วเข้าตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรและต้องต่อสายดิน
  2. เครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสายไฟฟ้าเข้าเครื่องจักรต้องเดินลงมาจากที่สูงกรณีเดินบนพื้นดินหรือฝังดินต้องใช้ท่อร้อยสายไฟที่แข็งแรงและปลอดภัย
  3. เครื่องจักรชนิดอัตโนมัติต้องมีสีเครื่องหมายปิด – เปิดที่สวิตช์อัตโนมัติตามหลักสากลและมีเครื่องป้องกันมิให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบสวิตช์อันเป็นเหตุให้เครื่องจักรทำงาน
  4. เครื่องจักรที่มีการถ่ายทอดพลังงานโดยใช้เพลาสายพานรอกเครื่องอุปกรณ์ล้อตุนกำลังต้องมีตะแกรงหรือที่ปิดคลุมส่วนที่หมุนได้และส่วนส่งถ่ายกำลังที่มิดชิดถ้าส่วนที่หมุนได้หรือส่วนส่งถ่ายกำลังสูงกว่า 2 เมตร  ต้องมีรั้วหรือตะแกรงสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตรกั้นล้อม ไม่ให้บุคคลเข้าไปได้ ในขณะเครื่องจักรกำลังทำงาน

สำหรับสายพานแขวนลอยที่มีความเร็วไม่น้อยกว่า 540 เมตร/นาที หรือสายพานที่มีช่วงยาวเกินกว่า 3 เมตร หรือสายพานที่กว้างกว่า 20 เซนติเมตร หรือสายพานโซ่ ต้องมีเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรนั้น

  1. เครื่องจักรที่มีใบเลื่อยวงเดือนต้องจัดให้มีเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรนั้น
  2. เครื่องจักรที่ใช้เป็นเครื่องลับฝนหรือแต่งผิวโลหะต้องมีเครื่องปิดบังประกายไฟหรือเศษวัตถุในขณะใช้งาน
  3. เครื่องจักรที่ใช้ในการขึ้นรูปพลาสติกหรือวัสดุอื่นโดยลักษณะฉีดเป่าหรือวิธีการอื่นต้องมีเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรนั้น

กรณีที่นายจ้างไม่สามารถจัดให้มีวิธีการดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างได้รับอันตราย

ตามวรรคหนึ่งได้ ต้องออกแบบอุปกรณ์ช่วยเพื่อป้องกันหรือกำหนดขั้นตอนการทำงานให้ปลอดภัย และแจ้งให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายทราบโดยไม่ชักช้า

จากข้อกำหนดในข้อ 11 เราจะเห็นว่า กฎหมายกำหนดให้สิ่งที่นายจ้างต้องทำนั้นมีมากมายจึงมีการจัดทำเป็นแบบตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องจักรขึ้นมา หรือที่เราเรียกว่า Machine Check Sheet เพื่อตรวจสอบดูว่า เครื่องจักร หรือการจัดการกับเครื่องจักรที่มีอยู่นั้น สอดคล้องกับกฎหมาย หรือเกิดความปลอดภัยแล้วหรือไม่ ซึ่งหากข้อไหน ที่ยังไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมาย ก็จะนำไปดำเนินการแก้ไข ให้สอดคล้องหรือเกิดความปลอดภัยต่อไป ซึ่งการทำงานกับเครื่องจักร ที่ปลอดภัยมากที่สุด ต้องคำนึงตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเครื่องจักร เพราะถ้าเครื่องจักรถูกออกแบบมาตามหลักของความปลอดภัย โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุก็จะลดลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากเราออกแบบเครื่องจักรมา ให้เริ่มการทำงานด้วย 2 มือ (Two hand switch) เครื่องจักรย่อมมีความปลอดภัยมากกว่า การเริ่มการทำงานด้วยมือเดียว แต่ก่อนที่เราจะได้เครื่องจักรที่ถูกต้องตามหลักความปลอดภัยเราต้องมีแบบตรวจเครื่องจักรที่ตรงตามหลักความปลอดภัยก่อนแล้วเอาแบบตรวจสอบเครื่องจักรนั้นไปให้กับหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของการสั่งซื้อเครื่องจักรเพื่อให้บริษัทผู้ผลิตทำการผลิตเครื่องจักรตามที่บริษัทต้องการ และ เมื่อมีการติดตั้งเครื่องจักรเรียบร้อยแล้วต้องตรวจสอบหลังการติดตั้งอีกครั้งว่าเครื่องจักรนั้นปลอดภัยพร้อมใช้งานหลายบริษัทมีระบบยืนยันความปลอดภัยของเครื่องจักรโดยการติดสติกเกอร์ที่เครื่องจักรที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัยพร้อมใช้งาน

การป้องกันอันตรายจากการทํางานกับเครื่องจักร

  • ทำเครื่องกำบังสำหรับเครื่องจักรที่มีจุดหมุน จุดเหวี่ยง หรือจุดเคลื่อนไหว
  • ทำการตรวจสอบความพร้อมใช้งานของเครื่องจักรก่อนเริ่มงาน
  • หากต้องทำการซ่อมบำรุงหรือทำความสะอาดให้หยุดเครื่องจักรก่อนทุกครั้ง และ กาดต้องซ่อมเครื่องจักรจะต้องทำการแขวนป้าย และทำระบบ Lock out – Tag out ทุกครั้ง
  • ทำระบบตัดการทำงานอัตโนมัติ interlock เช่นหากพนักงานยื่นมือเข้าไปภายในบริเวณจุดอันตรายระบบเซ็นเซอร์ก็จะตัดการทำงานของเครื่องจักรทันที
  • ทำแผงกันเพื่อแยกคนกับเครื่องจักรออกห่างจากกัน
  • และท้ายสุดพนักงานที่ทำงานกับเครื่องจักรควรใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ตลอดเวลาการทำงาน

การได้รับอบรมก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้พนักงานปฏิบัติงานได้ถูกต้อง และปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการอบรมการทำงานกับเครื่องจักรทั่วไป หรือหลักสูตรที่ระบุชัดเจน เช่น การอบรมการทำงานกับรถขุด รถแบคโฮ ควรไปถึงนายจ้างจะต้องจัดให้มีการตรวจรับรองเครื่องจักรประจำปีตามกฎหมายเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งนายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างปลอดภัย