จป คือใครมีหน้าที่อะไร

ทำความรู้จัก จป

“ จป คือใคร ? มีหน้าที่อะไร ? ”

จป ย่อมาจาก “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” บุคคลนี้เป็นผู้ที่คอยวางแผนควบคุม กำกับ ดูแลพนักงานทุกคนในองค์กรให้ทำงานได้อย่างปลอดภัย ปราศจากโรคจากการทำงาน

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย คือ บุคคลที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ และ ส่งเสริมความปลอดภัย และ สุขภาพในสถานที่ทำงาน หน้าที่หลักของ จป คือให้คำแนะนำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน ปัญหาทางสุขภาพโรคจากการทำงานที่เกิดขึ้นในบริบทการทำงาน

โดยการดำเนินการตามแนวทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHS) จป เป็นผู้ที่จะต้องมีทักษะในการประเมินความเสี่ยงอันตราย และ การปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยในประกอบการ พร้อมทั้งเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในองค์กรให้พนักงานทุกคนมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในปัจจุบัน จป มีบทบาทอย่างมากที่จะช่วยให้การดำเนินกิจการของนายจ้างเกิดความราบรื่น ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงานที่อาจส่งผลกระทบกับการบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือ เกิดทรัพย์สินเสียหาย ไปจนถึง การที่สถานประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจโดยการอยู่ร่วมกับชุมได้เป็นอย่างดี และ สิ่งเหล่านี้เองคือสิ่งที่ส่งเสริมให้นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบ และ พนักงานทุกคน รวมถึงผู้มาเยี่ยมชมสถานประกอบกิจการเกิดความปลอดภัย

จป เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ปัจจุบันมีหลายคนสนใจเนื่องจากเป็นสายงานที่มีความท้าทายในหลายมิติ และ มีบทบาทในองค์กรในหลายด้าน เป็นผู้ที่มีความสำคัญและคอยแนะนำให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆในด้านความปลอดภัยในการทำงานได้อย่างครบคลุม ไปจนถึงการจัดโครงการ กิจกรรมต่างๆ และวิเคราห์ข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย

ด้วยเหตุนี้สายงาน จป เมื่อเรียนจบสายนี้มาแล้วโอกาสตกงานจึงค่อนข้างน้อยเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก และในสายวิชาชีพนี้ยังแบ่งออกเป็นหลายประเภทกิจการเช่น

  • จป สายงานก่อสร้าง
  • จป สายงานวิศวกรรม หรือ Safety engineer
  • จป สายงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • จป สายงานอุตสาหกรรมรถยนต์
  • จป สายงานโรงพยาบาล
  • จป สายงานผลิต
  • จป สายงาน ฯลฯ

แต่ละสายงานเงินเดือนก็จะแตกต่างกันออกไปตามความยากง่ายของประเภทสถานประกอบกิจการนั้นๆ บางสายงานก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเงินเดือนก็มากตามคุณสมบัติ

จป มีกี่ระดับ

อ้างอิงตาม “กฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานฯ พ.ศ. 2565” ได้แบ่ง จป ออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยตำแหน่ง
  2. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยหน้าที่เฉพาะ
เครดิตภาพ : https://www.jorportoday.com/law-jorpor-2565/

จป ตามตำแหน่ง คือ

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับหัวหน้างาน
  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับบริหาร

จป โดยเฉพาะหน้าที่ คือ

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับเทคนิค
  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับเทคนิคขั้นสูง
  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับวิชาชีพ

จป แต่ละระดับนั้นก็จะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไปตามกฎหมายกำหนด

บทบาทสำคัญในการทำงานของ จป

  1. ทำการตรวจสอบ และ แนะนำนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างสอดคล้องถูกต้องกับความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
  2. วิเคราะห์ความเป็นอันตราย และภัยคุกคามที่แฝงอยู่ในกิจกรรมการทำงาน
  3. หามาตรการป้องกันอันตราย  ปรับปรุงกระบวนการทำงาน และ พัฒนาให้มีประสิทธิภาพในด้านคุณภาพ และ ความปลอดภัยในการทำงาน
  4. นำเสนอแผนงาน และ โครงการต่างๆในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน ผลกระทบที่จะตามมาอย่างครอบคลุม
  5. จัดทำแผนฉุกเฉินและเตรียมความพร้อมทรัพยากรอย่างครอบคลุม ทั้งบุคลากร และ อุปกรณ์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
  6. อบรมความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงานให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยก่อนเริ่มงาน และ อบรมตามความเสี่ยงของงาน เช่น อบรมพนักงานทำงานบนที่สูง , อบรมพนักงานทำงานในที่อับอากาศ , อบรมพนักงานทำงานกับสารเคมี ฯลฯ
  7. ดูแลสุขอนามัยของพนักงาน และ ป้องกันไม่ให้พนักงานเกิดโรคจากการทำงาน
  8. ทำการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สิ่งแวดล้อม) แสง เสียง ความร้อน และ สารเคมี ตามที่กฎหมายกำหนด ทำการควบคุมให้อยู่ในค่ามาตรฐาน และทำการปรับปรุงเมื่อมีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน
  9. กับกำดูแลให้พนักงานทุกคนทำการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล PPE ตลอดระยะเวลาการทำงาน และ จัดให้มีการใช้ PPE อย่างเหมาะสมกับอันตรายของกิจกรรมการทำงานนั้นๆ
  10. จัดทำขั้นตอนการทำงาน WI ที่ปลอดภัยในแต่ละกิจกรรม และ กระบวนการทำงานในองค์กร โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม

ที่กล่าวมาในข้างต้น 10 ข้อนั้นเป็นเพียงภาพรวมถึงคนที่จะเป็น จป ต้องมีทักษะเหล่านี้ และ จป ในแต่ละระดับจะมีกฎหมายระบุแตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละตำแหน่งซึ่งจะไม่ได้พูดในบทความนี้

บทความนี้สงวนลิขสิทธิ์ Copyright © All Right Reserved

* ห้ามมิให้คัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ เผยแพร่เนื้อหา รูปภาพ ในบทความนี้ในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางเรา

** หากต้องการคัดลอกเนื้อหาบทความ โปรดให้เครดิตเรา และ ใส่ลิงก์กลับมาที่หน้านี้